เกณฑ์การสำเร็จการศึกษา
ข้อมูลทั่วไป วัตถุประสงค์และคุณลักษณะบัณฑิต โครงสร้างหลักสูตร แผนการศึกษา เกณฑ์การสำเร็จการศึกษา
องค์ประกอบเกี่ยวกับประสบการณ์ภาคสนาม (การฝึกงาน หรือสหกิจศึกษา)
หลักสูตรวิศวกรรมศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมเครื่องกล จะมีการฝึกงานหรืออบรมระยะสั้นกับภาคอุตสาหกรรมสำหรับ แผน 1 แบบวิชาการ (ก 1) เปิดโอกาสให้ผู้เรียนลงเฉพาะรายวิชาวิทยานิพนธ์เท่านั้น ซึ่งจะทำให้ผู้เรียนสามารถทำงานวิจัยเชิงปฏิบัติการกับอุตสาหกรรมหรือในสถานประกอบการกับผู้ประกอบการได้อย่างเต็มที่ โดยหัวข้อวิจัยและการกำกับความก้าวหน้าขึ้นอยู่กับนักศึกษาผู้เรียน ผู้ประกอบการ และอาจารย์ที่ปรึกษา และในการรายงานความก้าวหน้าและสอบวัดผลต่าง ๆ จะเปิดโอกาสให้ทางสถานประกอบการส่งคนเข้าร่วมฟังและแสดงความคิดเห็นที่เกี่ยวข้องกับงานดังกล่าว แต่ไม่ได้เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาหรือเป็นกรรมการสอบแต่อย่างใด ทั้งนี้เพื่อให้ทางภาคอุตสาหกรรมได้ติดตามความก้าวหน้าร่วมกับหลักสูตร
ข้อกำหนดเกี่ยวกับการทำโครงงานหรืองานวิจัย
นักศึกษาทุกคนต้องดำเนินงานวิจัยด้วยตนเองโดยต้องหารือร่วมกับอาจารย์ที่ปรึกษา และ/หรือ ที่ปรึกษาอื่น ๆ ที่ทำวิจัยร่วมกัน ห้ามว่าจ้างผู้อื่นทำงานวิจัยให้หรือคัดลอกผลงานผู้อื่น อีกทั้งให้มีการรายงานความก้าวหน้าทุกภาคการศึกษา การเขียนและสอบป้องกันวิทยานิพนธ์ให้เป็นไปตามที่หลักสูตรและมหาวิทยาลัยกำหนด
ช่วงเวลา ให้เป็นไปตามแผนการศึกษา โดย
- นักศึกษาหลักสูตรแผน 1 แบบวิชาการ (ก 1) เริ่มตั้งแต่ภาคการศึกษาที่ 1 ของปีการศึกษาที่ 1 เป็นต้นไป
- นักศึกษาหลักสูตรแผน 1 แบบวิชาการ (ก 2) เริ่มตั้งแต่ภาคการศึกษาที่ 2 ของปีการศึกษาที่ 1 เป็นต้นไป
การเตรียมการ
1) นักศึกษาปริญญาโททุกคนจะต้องจัดหาและแต่งตั้งอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ให้แล้วเสร็จไม่เกินสัปดาห์ที่ 2 ของภาคการศึกษาแรกที่เริ่มเข้าศึกษา
2) นักศึกษาปริญญาโททุกคนจะต้องสอบผ่านโครงร่างวิทยานิพนธ์ภายในปีการศึกษาแรกที่เข้าเรียน
3) มีการกำหนดให้มีชั่วโมงการให้คำปรึกษาทุกสัปดาห์
4) หลักสูตรมีการแนะนำแนวทางการทำวิทยานิพนธ์
การประเมินผล
1) นักศึกษาต้องนำเสนอและผ่านประเมินการสอบโครงร่างวิทยานิพนธ์โดยผู้ทรงคุณวุฒิภายในมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ตามที่ได้รับการแต่งตั้งจากคณะกรรมการบริหารหลักสูตร
2) นักศึกษาทุกคนต้องมีการนำเสนอรายงานความก้าวหน้าวิทยานิพนธ์ภาคการศึกษาละ 2 ครั้งตลอดช่วงการทำวิทยานิพนธ์ให้กับคณะกรรมการประเมินความก้าวหน้าวิทยานิพนธ์และต้องร่วมประชุมวิชาการที่จัดขึ้นภายในหลักสูตรปีละ 1 ครั้ง
3) ต้องเสนอและสอบผ่านการสอบป้องกันวิทยานิพนธ์ขั้นสุดท้ายโดยคณะกรรมการ ซึ่งประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิทั้งภายในและภายนอกของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ตามที่ได้รับการแต่งตั้งจากคณะกรรมการบริหารหลักสูตร
4) ต้องส่งรายงานเล่มวิทยานิพนธ์ฉบับสมบูรณ์ตามรูปแบบที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์กำหนด
5) ข้อกำหนดอื่น ๆ ให้เป็นไปตามข้อบังคับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ว่าด้วยการศึกษา ชั้นบัณฑิตศึกษาที่ประกาศไว้
เกณฑ์การสําเร็จการศึกษาตามหลักสูตร
นักศึกษาหลักสูตรวิศวกรรมศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมเครื่องกล ทั้งแบบปริญญาสาขาวิชาเดียวและแบบทวิปริญญา จะสำเร็จการศึกษาได้ต้องมีคุณสมบัติครบถ้วน ดังต่อไปนี้
-
แผน 1 แบบวิชาการ (ก 1)
1) สอบผ่านโครงร่างวิทยานิพนธ์ (Proposal)
2) ใช้รูปแบบภาษาไทยหรือภาษาอังกฤษในการเขียนเล่มวิทยานิพนธ์ และสอบผ่านปากเปล่าขั้นสุดท้าย (Thesis Defend) จนบรรลุผลลัพธ์การเรียนรู้ตามมาตรฐานคุณวุฒิระดับบัณฑิตศึกษา โดยคณะกรรมการสอบวิทยานิพนธ์ประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิจากภายในและภายนอกมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ในสาขาที่เกี่ยวข้องกับวิศวกรรมเครื่องกล โดยให้อยู่ในดุลยพินิจของอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ร่วมกับคณะกรรมการบริหารหลักสูตร และต้องเป็นระบบเปิดให้ผู้สนใจเข้ารับฟังได้ เกณฑ์การวัดผลสัมฤทธิ์ในการสอบประกอบด้วย ความรู้ความเข้าใจในวิทยานิพนธ์ของนักศึกษา และ
3) ผลงานวิทยานิพนธ์หรือส่วนหนึ่งของวิทยานิพนธ์ต้องได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ใน
3.1) ในวารสารทางวิชาการระดับนานาชาติที่อยู่ในฐานข้อมูล Web of Science หรือ Scopus อย่างน้อย 1 เรื่อง หรือ
3.2) วารสารระดับชาติในรูปแบบบทความต้นฉบับภาษาอังกฤษ ที่อยู่ในฐานข้อมูลของศูนย์ดัชนีการอ้างอิงวารสารไทย (Thai Journal Citation Index - TCI) กลุ่ม 1 หรือ กลุ่ม 2 อย่างน้อย 2 เรื่อง หรือ
3.3) วารสารระดับชาติในรูปแบบบทความต้นฉบับภาษาอังกฤษ ที่อยู่ในฐานข้อมูลของศูนย์ดัชนีการอ้างอิงวารสารไทย (Thai Journal Citation Index - TCI) กลุ่ม 1 หรือ กลุ่ม 2 อย่างน้อย 1 เรื่องและได้รับการเผยแพร่บทความต้นฉบับภาษาอังกฤษ (Proceeding) ที่สมาคมวิชาชีพฯ เป็นผู้จัดหลักอย่างน้อยอีก 1 เรื่อง หรือ
3.4) ได้รับการเผยแพร่ในรูปแบบบทความต้นฉบับภาษาอังกฤษ (Proceeding) ที่สมาคมวิชาชีพฯ เป็นผู้จัดหลักอย่างน้อย 2 เรื่อง หรือ
3.5) ได้รับการเผยแพร่ในรูปแบบนวัตกรรมหรือสิ่งประดิษฐ์หรือผลงานทางวิชาการอื่น ซึ่งสามารถสืบค้นได้ตามที่สภาสภามหาวิทยาลัยกำหนด
4) ต้องสอบเทียบหรือสอบผ่านความรู้ภาษาต่างประเทศตามประกาศบัณฑิตวิทยาลัย เรื่อง การประเมินทักษะภาษาต่างประเทศของนักศึกษาระดับปริญญาโทและปริญญาเอกเพื่อสำเร็จการศึกษา (ภาคผนวก ถ (ส่วนที่ 2))
5) มีคุณสมบัติอื่นและเป็นไปตามประกาศที่มหาวิทยาลัยกำหนด
- แผน 1 แบบวิชาการ (ก 2)
1) ศึกษารายวิชาครบตามที่กำหนดในหลักสูตร มีผลการเรียนเฉลี่ยสะสมระดับคะแนนไม่ต่ำกว่า 3.00 จากระบบ 4 ระดับคะแนนหรือเทียบเท่า
2) สอบผ่านโครงร่างวิทยานิพนธ์ (Proposal)
3) ใช้รูปแบบภาษาไทยหรือภาษาอังกฤษในการเขียนเล่มวิทยานิพนธ์ และสอบผ่านปากเปล่าขั้นสุดท้าย (Thesis Defend) จนบรรลุผลลัพธ์การเรียนรู้ตามมาตรฐานคุณวุฒิระดับบัณฑิตศึกษา โดยคณะกรรมการสอบวิทยานิพนธ์ประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิจากภายในและภายนอกมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ในสาขาที่เกี่ยวข้องกับวิศวกรรมเครื่องกล โดยให้อยู่ในดุลยพินิจของอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ร่วมกับคณะกรรมการบริหารหลักสูตร และต้องเป็นระบบเปิดให้ผู้สนใจเข้ารับฟังได้ เกณฑ์การวัดผลสัมฤทธิ์ในการสอบประกอบด้วย ความรู้ความเข้าใจในวิทยานิพนธ์ของนักศึกษา และ
4) ผลงานวิชาการจากวิทยานิพนธ์หรือส่วนหนึ่งของวิทยานิพนธ์ต้องได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ใน
4.1) วารสารทางวิชาการระดับนานาชาติที่อยู่ในฐานข้อมูล Scopus หรือ Web of Science อย่างน้อย 1 เรื่อง หรือ
4.2) วารสารระดับชาติในรูปแบบบทความต้นฉบับภาษาอังกฤษ ที่อยู่ในฐานข้อมูลของศูนย์ดัชนีการอ้างอิงวารสารไทย (Thai Journal Citation Index - TCI) กลุ่ม 1 หรือ กลุ่ม 2 อย่างน้อย 1 เรื่อง หรือ
4.3) ได้รับการเผยแพร่ในรูปแบบบทความต้นฉบับภาษาอังกฤษ (Proceeding) ที่สมาคมวิชาชีพฯ เป็นผู้จัดหลักอย่างน้อย 1 เรื่อง หรือ
4.4) ได้รับการเผยแพร่ในรูปแบบนวัตกรรมหรือสิ่งประดิษฐ์หรือผลงานทางวิชาการอื่น ซึ่งสามารถสืบค้นได้ตามที่สภาสภามหาวิทยาลัยกำหนด
5) ต้องสอบเทียบหรือสอบผ่านความรู้ภาษาต่างประเทศตามประกาศบัณฑิตวิทยาลัย เรื่อง การประเมินทักษะภาษาต่างประเทศของนักศึกษาระดับปริญญาโทและปริญญาเอกเพื่อสำเร็จการศึกษา (ภาคผนวก ถ (ส่วนที่ 2))
6) มีคุณสมบัติอื่นและเป็นไปตามประกาศที่มหาวิทยาลัยกำหนด
การอุทธรณ์ผลการศึกษาของนักศึกษา
นักศึกษาสามารถยื่นคำร้องเพื่อขออุทธรณ์ในกรณีที่มีข้อสงสัยเกี่ยวกับการสอบ ผลคะแนนและวิธีการประเมินผลได้ที่หน่วยทะเบียนคณะฯ เพื่อให้อาจารย์ผู้สอนตรวจสอบ และแจ้งผลให้คณะกรรมการวิชาการฯ และคณะกรรมการประจำคณะฯ รับทราบ